ประกันสังคม มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิม แต่ยังต้องการคงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของประกันสังคมไว้

มาตรา 39 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ระบุว่า

“ผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหกเดือน นับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง ต้องส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 46 วรรคสอง ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย ให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้ง ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป

ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งซึ่งไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคสาม ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ สำหรับเศษของเดือน ถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเท่ากับบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน เมื่อได้สิ้นสุดความเป็นลูกจ้างของบริษัทที่เราเป็นลูกจ้าง ก็ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ หากเรายังมีความประสงค์จะรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตนต่อก็สามารถทำได้ ด้วยการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเอง เพราะทางประกันสังคมต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกัน ตามนโยบายพื้นฐานที่ว่าด้วยการเฉลี่ยความสุขและทุกข์

ผู้ประกันตน มาตรา 39 เป็นการประกันตนภาคสมัครใจ กรณีที่เคยทำงานในบริษัทและประกันตน มาตรา 33 มาก่อน แต่เกิดตกงานหรือลาออก แล้วยังต้องการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมอยู่ ก็สามารถสมัครในมาตรา 39 ได้ โดยผู้ประกันตนจะส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนี้ต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ จึงจะสมัครมาตรา 39 ได้

ประกันสังคม มาตรา 39 ส่งครบแล้วได้อะไรบ้าง ?

ผู้ประกันสังคมมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

1. กรณีเจ็บป่วย
2. กรณีทุพพลภาพ
3. กรณีคลอดบุตร
4. กรณีสงเคราะห์บุตร
5. กรณีชราภาพ
6. กรณีเสียชีวิต

สิทธิประโยชน์ มาตรา 39 คุ้มครองอะไรบ้าง

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้ มี 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต

1. สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ตามมาตรา 39

มีหลายกรณีที่ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลคือ
– กรณีเจ็บป่วย
– กรณีปลูกถ่ายไขกระดูก
– กรณีการบำบัดทดแทนไต
– กรณีทันตกรรม
– กรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้
– ค่าพาหนะกรณีย้ายสถานพยาบาล

ในที่นี้จะขอให้รายละเอียดเฉพาะ 3 กรณีหลัก ๆ คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทันตกรรม และกรณีขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ส่วนกรณีอื่น ๆ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ประกันสังคม

1. กรณีเจ็บป่วยทั่วไป อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน แบ่งได้ 2 กรณี

1.1 เจ็บป่วยปกติ ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์การรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

1.2 เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ดังนี้

โรงพยาบาลรัฐบาล

ผู้ป่วยนอก

– สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

ผู้ป่วยใน

– สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้องและอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท

โรงพยาบาลเอกชน

กรณีผู้ป่วยนอก

– สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท

– สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงเกินครั้งละ 1,000 บาทได้ หากมีการตรวจรักษาตามรายการในประกาศ ดังนี้

* การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อยูนิต

* สารต่อด้านพิษจากเชื้อบาดทะยักชนิดทำจากมนุษย์ เท่าที่จ่ายจริง 400 บาทต่อราย

* ค่าฉีดวัคซีน/เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
– Rabies Vaccine เฉพาะเข็มแรก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
– Rabies antiserum-ERIG เฉพาะเข็มแรก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท
– Rabies antiserum-HRIG เฉพาะเข็มแรก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 8,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

* อัลตราซาวด์ เฉพาะกรณีภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันในช่องท้อง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อราย

* CT-SCAN เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,000 บาท หรือ MRI เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 8,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์กำหนด

* การขูดมดลูก เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อราย เฉพาะกรณีที่มีภาวะตกเลือดหลังการคลอดหรือภาวะตกเลือดจากการแท้งบุตร

* ค่าฟื้นคืนชีพรวมค่ายาและอุปกรณ์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,000 บาทต่อราย

* กรณีที่มีการสังเกตอาการในห้องสังเกตอาการตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาทต่อราย

กรณีผู้ป่วยใน

– ค่ารักษาพยาบาล กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท

– ค่าห้องและค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท

– ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลกรณีที่รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท

– กรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ  8,000-16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด

– การฟื้นคืนชีพรวมค่ายาและอุปกรณ์ไม่เกิน 4,000 บาท

– ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหรือเอกซเรย์ เบิกได้ในวงเงินไม่เกินรายละ 1,000 บาท

– กรณีมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยพิเศษ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจคลื่นสมอง การตรวจอัลตราซาวด์ การสวนเส้นเลือดหัวใจและเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจด้วยการฉีดสี การตรวจด้วย CT-SCAN หรือ MRI จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ กรณีที่เป็นโรคหรือเข้ารับบริการในกลุ่ม 13 โรคยกเว้น จะไม่มีสิทธิ์ได้รับบริการทางการแพทย์ คือไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้ ประกอบด้วย

1. โรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด

2. การบำบัดทดแทนไต กรณีไตวายเรื้อรัง ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้มีสิทธิ์ได้รับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไต ด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, ด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร และด้วยวิธีการปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราที่กำหนด

3. การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

4. การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง

5. การรักษาภาวะมีบุตรยาก

6. การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้นการตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเซลล์ต้นกำเนิด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

7. การตรวจใด ๆ ที่เกินกว่าความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น

8. การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้น
(ก) การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ให้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายในอัตรา 750,000 หรือ 1,300,000 บาทต่อราย แล้วแต่กรณี ให้แก่สถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดกระบวนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โดยจะต้องเป็นสถานพยาบาลที่คณะกรรมการการแพทย์รับรอง และได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงานในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

(ข) การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา โดยให้เหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่สถานพยาบาล 35,000 บาท และให้ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย 15,000 บาท ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

(ค) การปลูกถ่ายตับ, การปลูกถ่ายปอด, การปลูกถ่ายหัวใจ, การปลูกถ่ายตับอ่อน รวมถึงการปลูกถ่ายเกินกว่าหนึ่งอวัยวะขึ้นไป

9. การเปลี่ยนเพศ

10. การผสมเทียม

11. การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น

12. ทันตกรรม ยกเว้นการถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูนและผ่าฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ มีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300-4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี

13. แว่นตา

2. กรณีทันตกรรม

 ผู้ประกันตนสามารถทำฟันได้ในสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิประกันสังคม โดยได้รับสิทธิประโยชน์คือ

– ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาทต่อครั้งต่อปี
– กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  1,300 บาท
(ข) มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

– กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  2,400  บาท
(ข) ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน  4,400 บาท

ทั้งนี้ หากเข้ารับบริการทันตกรรมแล้ว ผู้ประกันตนจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน และต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน และแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) มายื่นขอรับเงินคืนที่สำนักงานประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย ดังนั้น หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลแห่งนี้ ก็จะไม่ต้องนำเอกสารต่าง ๆ มายื่นขอรับเงินคืนอีก ซึ่งสามารถตรวจสอบรายได้สถานพยาบาลทั้งหมดได้ที่ sso.go.th

3. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยมาตรา 39

เงินทดแทนการขาดรายได้สำหรับการหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ในรอบปีปฏิทิน ถ้าผู้ประกันตนลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน ตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้วต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินเรียกว่า “เงินทดแทนการขาดรายได้” ซึ่งผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในรอบปีหนึ่ง ๆ ก็จะจ่ายให้ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือมีสิทธิ์ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จนกว่าสิทธิ์ที่ได้รับเงินค่าจ้างนั้นได้สิ้นสุด จึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ดังกล่าวเท่ากับระยะเวลาที่คงเหลือ

ปัจจุบันกำหนดโรคเรื้อรังไว้ 6 รายการ ดังนี้

1. โรคมะเร็ง
2. โรคไตวายเรื้อรัง
3. โรคเอดส์
4. โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต
5. ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน
6. โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน ระหว่างการรักษาทำงานไม่ได้ให้ยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์

ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งเอกสารประกอบการยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ sso.go.th

2. สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพ ตามมาตรา 39

ทุพพลภาพ คือ การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้เป็นผู้ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจนถึงขั้นทุพพลภาพเท่านั้น จึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพจะได้รับ มีดังนี้

ค่ารักษาพยาบาล

– กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ สำหรับผู้ทุพพลภาพสามารถเข้าทำการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่เลือก หรือสถานพยาบาลของรัฐ ทั้งในกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทางสถานพยาบาลจะเป็นผู้มายื่นเรื่องเบิกกับทางสำนักงานประกันสังคม

– กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

– ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพ ให้เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท

– ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพและเข้ารับการฟื้นฟูในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานของสำนักงานประกันสังคมจะมีค่าฟื้นฟูอีก 40,000 บาท

เงินทดแทนการขาดรายได้

ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ค่าอวัยวะเทียม / อุปกรณ์ / อุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค เช่น ค่าจ้างเฉลี่ต่อเดือน 10,000 บาท ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน 5,000 บาท

ค่าทำศพ

กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ผู้จัดการศพมีสิทธิ์ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท

เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตายผู้มีสิทธิ์ได้รับ ดังนี้

– ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 1 เดือนครึ่ง

– ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 5 เดือน

ตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ sso.go.th

3. สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร มาตรา 39

กรณีคลอดบุตรผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร จึงมีสิทธิ์เบิกค่าคลอดบุตรได้ โดยคุณสามารถฝากครรภ์และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามบัตร เมื่อคลอดบุตรแล้วให้นำเอกสารมาเบิกเงินหมาจ่ายค่าคลอด 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวน) และเงินค่าฝากครรภ์ จำนวนไม่เกิน 1,000 บาท

สำหรับผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยต้องเตรียมเอกสารการเบิก สปส.2-01 พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน สูติบัตรตัวจริงและสำเนา แล้วนำมาเบิกได้ที่ สปส. พื้นที่ที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ สำหรับการใช้สิทธิ์บุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน

กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิ์ในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกัน ไม่จำกัดจำนวนบุตรต่อครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิ์เบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก

เงินทดแทนกรณีคลอดบุตรมาตรา 39

ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่ยื่นเบิกค่าคลอดบุตรแล้ว ก็สามารถยื่นขอเงินสงเคราะห์กรณีหยุดงาน เพื่อชดเชยการขาดรายได้ไปพร้อมกันด้วย โดยจะได้รับเงินจำนวน 1.5 เดือน (จะเบิกได้เฉพาะผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิ์ของแม่เท่านั้น) คำนวณจากเงินเดือน 3 เดือนสุดท้ายเฉลี่ยออกมาเป็นรายวัน โดยฐานเงินเดือนสูงสุดที่จะคำนวณคือ 15,000 บาท

หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร มีดังนี้

– แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) (สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งควรเตรียมไปก่อนเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา)

– ต้นฉบับและสำเนาสูติบัตรของบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)

– สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีภรรยาของผู้ประกันตนคลอด) หากไม่มีทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส

– บัตรประชาชนและสำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกันตน

 เบิกค่าคลอดประกันสังคม มาตรา 39

ในการขอเบิกเงินค่าคลอดบุตรนั้น ผู้ประกันตนจะต้องมายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ์ขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ซึ่งหากผู้ประกันตนไม่มารับภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน

4. สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ตามมาตรา 39

            หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ท่านมีสิทธิ์ คือ จ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนและเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท ต่อบุตร 1 คน

ซึ่งกรณีนี้ผู้มีสิทธิ์ขอรับประโยชน์มีเพียงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น และบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

เงื่อนไขที่ได้รับกรณีสงเคราะห์บุตร

– เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น)

– ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

– จดทะเบียนสมรสกับมารดาของบุตร

– จดทะเบียนรับรองบุตร

– ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร

การหมดสิทธิ์รับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร

– เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ขวบปีบริบูรณ์

– บุตรเสียชีวิต

– ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น

– ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

          ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ sso.go.th

          นอกจากนี้ ประกันสังคมยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้อีก 600 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ หากแม่หรือผู้ปกครองของเด็กมีคุณสมบัติ ดังนี้

          – สัญชาติไทย

          – อยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน คือ มีรายได้รวมของครัวเรือนทั้งหมด หารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือไม่เกิน 36,000 บาทต่อคนต่อปี

5. สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ มาตรา 39

ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบครบถ้วน จะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จประกันสังคม และเงินบำนาญประกันสังคม

บํานาญประกันสังคม มาตรา 39

กรณีที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน) มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

และในกรณีที่จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

ตัวอย่าง : คุณ A เคยทำงานเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือน 20,000 บาท โดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 180 เดือน ต่อมาลาออกจากงาน และสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 60 เดือน เนื่องจากคุณ A จ่ายเงินสมทบรวม 240 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน คุณ A จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน เดือนละ 1,320 บาท คำนวณได้ ดังนี้

ส่วนที่ 1 : 180 เดือนแรก เท่ากับ 4,800 บาท x 20% = 960 บาท

ส่วนที่ 2 : 60 เดือนหลัง เท่ากับ 4,800 บาท x 1.5% x 5 ปี = 360 บาท

รวมได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ 960 + 360 = 1,320 บาทต่อเดือน

หมายเหตุ : ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 4,800 บาทต่อเดือน

บําเหน็จประกันสังคม มาตรา 39

– กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

– กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

–  กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

คำนวณมาตรา 39 เมื่ออายุครบ 55 ปี 

ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถคำนวณเงินออมกรณีชราภาพได้ ดังนี้

1. กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน หรือ 1 ปี

จะได้รับเงิน “บำเหน็จชราภาพ” ซึ่งเป็นเงินก้อนจำนวนเท่ากับเงินสมทบส่วนที่ส่งสมทบจริงกลับคืนไป

ยกตัวอย่าง : กรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งสมทบเดือนละ 450 บาท หากสมทบ 10 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 450 คูณ 10 เท่ากับ 4,500 บาท

2. กรณีส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 15 ปี

จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวนเท่ากับเงินสมทบ ส่วนที่ลูกจ้างส่งและนายจ่ายสมทบกลับคืนไปบวกดอกผลจากการลงทุนในช่วงเวลาที่ลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามที่ สปส. กำหนด

ยกตัวอย่าง : กรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 10 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 450 คูณ 2 คูณ 12 เดือน คูณ 10 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 108,000 บาท อาจจะได้มากกว่านี้หากรวมดอกผลจากการลงทุนของ สปส.

 3. กรณีส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

จะได้รับเงิน “บำนาญชราภาพ” จ่ายเป็นรายเดือนและได้รับไปตลอดชีวิต โดยเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับคำนวณตามสูตรเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเฉลี่ย 60 เดือน หรือ 5 ปีสุดท้าย และทุก ๆ 12 เดือนที่สมทบเพิ่ม (คือนับตั้งแต่ปีที่ 16 เป็นต้นไป) จะได้รับโบนัสในส่วนเพิ่มเท่ากับร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนเฉลี่ย

ยกตัวอย่าง : กรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 15,000 คูณร้อยละ 20 เท่ากับ 3,000 บาทต่อเดือน หรือหากส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 15,000 คูณร้อยละ 20  บวก 15,000 คูณ 15 ปีที่ส่งเงินสมทบเพิ่ม คูณร้อยละ 1.5 เท่ากับ  3,000 บวก 3,375 เท่ากับ 6,375 บาทต่อเดือน

ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมวิธีคำนวณได้ที่ sso.go.th

6. สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ตามมาตรา 39

ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์ ตามมาตรา 39 เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย

สำหรับหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต ตามมาตรา 39 มีรายละเอียด ดังนี้

            หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์

– กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน

– ก่อนเดือนถึงแก่ความตาย

– ผู้มีสิทธิ์ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท โดยจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ

– ผู้ประกันตนสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพคืนได้ภายใน 1 ปี (ดูรายละเอียดในกรณีชราภาพ)

– ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย ดังนี้

* ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน
* ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน

ใครคือผู้จัดการศพ

บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน กรณีไม่ได้ทำหนังสือระบุให้ใครเป็นผู้รับ จ่ายให้ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย คือ

– คู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

– บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน

ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ssg.go.th

คุณสมบัติของผู้สมัครผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39

1. เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

2. ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

ขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 39 อย่างไร

การยื่นใบสมัครผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ

ผู้ประกันตนที่ประสงค์จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยตนเองโดยสมัครใจ โดยมีรายละเอียดการยื่นใบสมัครผู้ประกันตนมาตรา 39 ดังนี้

1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส.1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

2. สถานที่ยื่นใบสมัคร

– กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 แห่ง

– ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

หลักฐานการสมัครมาตรา 39

1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20) คลิกที่นี่

2. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา

เงินสมทบที่ต้องจ่ายให้ประกันสังคมตามมาตรา 39

สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม คือ เดือนละ 432 บาทต่อเดือน

เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน) ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

วิธีการจ่ายเงินสมทบมาตรา 39

ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบมาตรา 39 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา พร้อมแบบส่งเงินสมทบ (สปส. 1-11) หรือใช้วิธีหักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และการจ่ายด้วยเงินสดที่ธนาคาร ดังนี้

1. หักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มี 6 ธนาคาร

– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

          หมายเหตุ :

– กรณีหักผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขอรับหนังสือยินยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาที่เปิดบัญชี หรือสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่)

– ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าธรรมเนียมรายการละ 5 บาท (เดิมคิดค่าธรรมเนียม 10 บาท)

2. จ่ายด้วยเงินสดที่

– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

– ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

– จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-ELEVEN ทุกสาขา ฟรีค่าธรรมเนียม

– จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ฟรีค่าธรรมเนียม

                – จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เพย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ฟรีค่าธรรมเนียม
                – จ่ายผ่านเทสโก้ โลตัส ทุกสาขา ฟรีค่าธรรมเนียม

หน้าที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

1. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

            2. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้สำนักงานประกันสังคม ดังนี้

– กรณีเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ (สปส.1-34)

– กรณีเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ต้องแจ้งทันทีพร้อมแนบสำเนาหลักฐาน

– กรณีประสงค์ลาออกหรือกลับเข้าทำงานและมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีตามแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 (สปส.1-21)

เช็กรายชื่อประกันสังคมมาตรา 39

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่อยากเช็กรายชื่อประกันสังคมมาตรา 39 นั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หลังจากนั้นก็ใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักของผู้ที่ต้องการค้นหาลงไป

หนังสือมอบอำนาจเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามมาตรา 39

ในกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา  39 ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน สามารถทำหนังสือมอบอำนาจเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามมาตรา 39 หรือทำเป็นหนังสือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมารับแทนเงินแทนตนได้

โดยเอกสารที่ผู้ที่ได้มอบอำนาจให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ ตามมาตรา 39 ประกอบด้วย

– ทำหนังสือมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมารับแทน

– บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้มอบและผู้รับมอบ

– หนังสือมอบฉันทะหรือหนังสือมอบอำนาจ (ไม่ต้องติดอากรแสตมป์)

ประกันสังคม มาตรา 39 สิ้นสุดสภาพเมื่อไร

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนเมื่อใด

1. ตาย

2. กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

3. ลาออก

4. ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)

5. ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน)

ขาดส่งประกันสังคม มาตรา 39

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จะถือว่าได้สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนแรกที่ขาดส่ง หรือกรณีที่ผู้ประกันตนให้หักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร แต่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอ ทำให้สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนได้เช่นเดียวกัน

หากได้งานใหม่ จะเปลี่ยนจากผู้ประกันตนมาตรา 39 เป็น 33 อย่างไร

กรณีผู้ประกันตนที่ต้องการแจ้งออกมาตรา 39 สามารถไปแจ้งยกเลิกที่สำนักงานประกันสังคมที่สมัครไว้ได้ทันที หรือนายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องไปดำเนินการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-21) แต่อย่างใด ยกเว้นกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีการค้างชำระเงินสมทบจะต้องไปดำเนินการแจ้งการลาออก (สปส.1-21) ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สมัครไว้

ประกันสังคม มาตรา 39 สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ไหม

ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำเงินที่จ่ายให้แก่ประกันสังคมในปีนั้น ยื่นหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองให้

แบบฟอร์มที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 ควรรู้

– แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส.1-20)

– แบบส่งเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-11)